วันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

มนุษย์ ๗ จำพวก

มนุษย์ ๗ จำพวก..ท่านอยู่ในจำพวกใด ?
หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
ณ วัดป่าอุดมสมพร จังหวัดสกลนคร
เมื่อ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๑๘



มนุษย์ทั้งหลายมี ๗ จำพวก มนุษย์มี ๗ อย่าง..

มนุสสติรัจฉาโน
ทำไมจึงว่ามนุสสติรัจฉาโน
ดูซิ ร่างกายเป็นมนุษย์ หัวใจเป็นสัตว์เดรัจฉาน
คือมันขี้เกียจขี้คร้าน รับอาหารแล้วก็นอน
ไม่รู้จักการกราบ ไม่รู้จักการไหว้ ไม่รู้จักการรักษาศีลภาวนา
ทำบุญให้ทานอะไร เหมือนกับสัตว์เดรัจฉานน่ะ
มนุษย์เช่นนั้นแหละตายไปก็ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน
ดูเอาซิ พิจารณาเอาซี ร่างกายเป็นมนุษย์แต่หัวใจเป็นสัตว์เดรัจฉาน

มนุสสเปโต
ร่างกายเป็นมนุษย์แต่หัวใจเป็นเปรต
มันมีแต่โมโหโทโส อยากฆ่า อยากฟัน
ความทะเยอทะยานดิ้นรน มีพยาบาทอาฆาตจองเวร
ดูซิ ใจมันมีอาฆาต นี่แหละมนุสสเปโต
ร่างกายเป็นมนุษย์ เมื่อดับขันธ์ไปแล้วก็ไปเป็นเปรต


มนุสสนิรเย
มนุษย์หัวใจเป็นนรก
หัวใจเป็นนรก คือมันมืด มันกลุ้มอกกลุ้มใจ ให้ทุกข์ให้ร้อน
ดูเอาซิ นั่นแหละนรก ดับขันธ์ไปแล้วก็ไปนรกซี่
ได้รับความทุกข์ยากความลำบากรำคาญ นี่มนุษย์เช่นนี้
ทีนี้ถ้าไม่ไปเป็นอย่างนั้น เกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นมนุษย์ที่ต่ำช้า
หัวใจต่ำช้า อย่างอธิบายมาแล้ว ต่ำช้ายังไงล่ะ
เป็นใบ้บ้าเสียจริต หูหนวกตาบอด ปากกืด กระจอกงอกง่อย
ขี้ทูดกุฏฐัง ตกระกำลำบาก แน่ะ มนุษย์หัวใจเป็นยังงั้น
ถ้าเกิดเป็นมนุษย์อีกก็เป็นมนุษย์ที่ต่ำช้า
ดูซิ ใจเราทุกคน ไม่ว่าพระว่าเณร ไม่ว่าผู้หญิงผู้ชาย
เอ้าดู อธิบายให้ฟัง ถ้ามันเป็นอย่างนั้นเราไม่ต้องการก็เลิกก็ละเสีย
ให้รู้จักดีรู้จักชั่ว รู้จักผิดรู้จักถูก รู้จักฟัง อธิบายให้ฟัง


มนุสสเทโว
ร่างกายเป็นมนุษย์หัวใจเป็นเทวธิดา เทวบุตร
หัวใจมีทาน มีศีล มีภาวนา รู้จักเคารพนอบน้อม รู้จักกราบรู้จักไหว้
ใจมีหิริโอตตัปปะ ละอายบาป กลัวบาป ใจเบิกบาน ใจสว่างไสว ใจดี
ดับขันธ์ก็ไปเป็นเทวบุตรเทวธิดา เรื่องเป็นอย่างนั้น ดูเอาซิ


มนุสสพรหมา
ท้าวมหาพรหม นางมหาพรหม หัวใจเช่นใด
มีพรหมวิหาร มีพรหมวิหารธรรมเป็นเครื่องอยู่
หัวใจว่างไม่มีอะไร เหมือนกะอากาศนี้แหละ ว่างเปล่าหมด
เหลือแต่อรูปจิต ดับขันธ์ไปเป็นพรหม ท้าวมหาพรหม นางมหาพรหม
อยากรู้ก็ดูเอาซิ ที่อยู่ของเราเป็นอย่างนี้ มนุษย์ทั้งหลาย


มนุสสอรหัตโต
ร่างกายเป็นมนุษย์ หัวใจเป็นพระอรหันต์
คือละกิเลส ละตัณหา กิเลสคือใจเศร้าหมอง
ตัณหาคือใจทะเยอทะยานดิ้นรนกระวนกระวาย
ท่านละกิเลสตัณหา ราคะ โลภะ โทสะ โมหะ อวิชชา
ตัณหาอุปาทาน ภพชาติ ละขาดในสันดาน ไม่มีสิ่งเหล่านี้ในจิตใจ
เมื่อดับขันธ์ไปก็เข้าสู่นิพพาน ดับทุกข์ในวัฏสงสาร
ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีก ก็เป็นแต่มนุษย์ ได้แต่มนุษย์ซิ


เราจึงมาฝึกหัดอบรมบ่มนิสัยของเรา เพ่งเล็งดูซิ
เราอย่าดูอื่น เรานั่งอยู่ก็นั่งดูใจของเรา ไม่ได้ดูดินฟ้าอากาศนะ
ใจของเรามันเป็นอย่างไร เหมือนที่อธิบายให้ฟังไหมล่ะ
มันไม่ดีตรงไหนก็แก้ไขซิ ทีนี้


มนุสสพุทโธ
ร่างกายเป็นมนุษย์ หัวใจเป็นพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าก็เป็นมนุษย์เหมือนกับพวกเรานี้
ว่าเรื่องภพเรื่องชาติของท่าน บิดามารดาของท่านก็มี
บุตรภรรยาท่านก็มี ท่านเป็นมนุษย์ครือเรานี่แหละ
แต่ท่านประพฤติปฏิบัติ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง
เป็นสยัมภู ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง
ไม่มีบุคคลผู้ใดหรือใครแนะนำพร่ำสอน รู้ด้วยตนเองเป็นสยัมภู
รู้แจ้งแทงตลอดหมดซึ่งสารพัดเญยยะธรรมทั้งหลาย ไม่มีที่ปกปิด
สัตว์ทั้งหลาย ตนของท่าน บุพเพนิวาสานุสสติญาณ
ญาณความรู้ความเห็นในบุพพชาติเบื้องหลัง
เป็นอะไรๆ มา ท่านรู้หมด เรื่องมันเป็นอย่างนั้น
จุตูปาตญาณ จุติจากนี้ไปอยู่ในภพชาติใด ภพน้อยภพใหญ่ ท่านรู้หมด
คือเหมือนอธิบายให้ฟังนี้ อาสวักขยญาณ สิ้นจากภพจากชาติท่านก็รู้หมด..


ที่มา
http://variety.teenee.com/saladharm/42725.html

วันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

8 เคล็ดลับเพื่อความสำเร็จในการกล้าที่จะรวย



8 เคล็ดลับเพื่อความสำเร็จในการกล้าที่จะรวย

ท่ามกลางสังคมที่เอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้ หลาย ๆ ครอบครัวต้องเผชิญกับสภาวะขึ้น ๆ ลง ๆ ทั้งราคาน้ำมัน รวมไปถึงราคาสินค้าที่มองไปทางไหนก็มีแต่ข้าวของราคาแพง ทำให้ครอบครัวจำนวนไม่น้อยเกิดความหวาดหวั่น และไม่ไว้ใจกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เป็นอยู่

วันนี้ทีมงาน Life & Family มีหลักคิดดี ๆ เพื่อความสำเร็จในการกล้าที่จะรวยจาก คุณสุวภา เจริญยิ่ง กรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน) อีกหนึ่งผู้ทำงานในแวดวงการเงินมากว่า 25 ปี และเจ้าของผลงานสร้างชื่ออย่าง "อายุเท่าไรก็รวยได้ ถ้าใช้เงินเป็น" และ "มีลูกกี่คนก็รวยได้ ถ้าใช้เงินเป็น" มาฝากกัน ส่วนจะมีหลักอะไรบ้างนั้น ไปติดตามกันเลยครับ

1. ต้องกล้าที่จะยอมรับว่า ปัจจุบันเราอยู่ในสถานะไหน

การยอมรับสถานะของตัวเอง และครอบครัวคือตัวควบคุมให้เรารู้จักใช้จ่ายอย่างเหมาะสม เช่น เราเป็นคนเงินเดือนไม่มาก มีภาระต้องเลี้ยงดูพ่อกับแม่ ทำให้การใช้เงินต้องคิดหน้าคิดหลังให้ดี เพราะไม่เช่นนั้นอาจเกิดการติดขัดได้

2. ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน ทั้งระยะสั้น และระยะยาว

การตั้งเป้าหมายในระยะสั้นลองมองแบบเป็นรายเดือนดูก่อนก็ได้ว่า เดือนนี้จะต้องเหลือเก็บเท่าไร ส่วนในระยะยาว คือการวางแผนเกษียณไว้เลย เช่น ต้องการมีเงินสักเท่าไรในช่วงเวลานั้น อาจจะ 20 ปี หรือ 30 ปีข้างหน้า เพื่อมาสอดรับกับเป้าหมายรายเดือนของเราว่าจะต้องใช้เครื่องมืออะไรทำให้เงินงอกเงย แต่กระนั้นไม่ควรตั้งเป้าหมายที่มันยากเกินไป เช่น อยากเก็บเงินเดือนละ 5,000 ทั้ง ๆ ที่ได้เงินเดือน ๆ ละ 15,000 บาท

3. เริ่มต้นเก็บเงินเดี๋ยวนี้

ปัจจุบันคนเรามีอายุยืนขึ้น หรือพูดง่าย ๆ คือ แก่ง่ายตายช้า โดยอายุเฉลี่ยของคนไทยเพิ่มขึ้นกว่าในอดีตมาก ผู้ชายไทยมีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณ 75 ปี ในขณะที่ผู้หญิงไทยมีแนวโน้มที่อายุยืนถึง 80 ปี ซึ่งอายุที่ยืนยาวขึ้น หมายถึงมีระยะเวลาในการใช้เงินหลังเกษียณเพิ่มขึ้นด้วย ส่งผลให้ต้องเตรียมเงินเพื่อใช้ในการเกษียณเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้น หากไม่เริ่มต้นเก็บเงินตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจเกิดปัญหาในการใช้ชีวิตตอนแก่ชราได้ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งค่ากิน และค่ารักษาพยาบาล รวมไปถึงขนาดของครอบครัวที่เล็กลง ส่งผลให้ชีวิตในวัยเกษียณของใครหลายคนต้องพึ่งพาตัวเองมากขึ้น

4. กำหนดเป้าหมายที่ต้องการ และลงในรายละเอียด

การกำหนดเป้าหมายจะช่วยให้การดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างมีทิศทางมากขึ้น และทราบว่าจะทำให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้อย่างไร จากนั้นก็ควรเช็กสุขภาพทางการเงินเพื่อสำรวจดูว่าคุณมีหนทางที่จะทำเป้าหมายให้เป็นจริงได้มากน้อยแค่ไหน เช่น มีแผนจะนำเงินไปลงทุนเพื่อให้เงินงอกเงยอะไรบ้าง มีกำหนดระยะเวลาเท่าไร เป็นต้น ส่วนในกรณีที่มีเป้าหมายหลายอย่างในช่วงเวลาเดียวกัน สิ่งที่สำคัญคือ การรู้จักจัดลำดับความสำคัญของแต่ละเป้าหมาย โดยพิจารณาถึงความจำเป็นและเป้าหมายหลักในชีวิตเป็นสำคัญ





5. กำจัดอุปสรรค

การกำจัดอุปสรรคทางการเงินถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งเราต้องรู้จักทำบัญชีรายรับรายจ่ายอย่างเป็นระบบ เพราะนั่นจะทำให้เรารู้ว่าในแต่ละเดือนเราใช้จ่ายอะไรไปบ้าง และควรจะต้องตัดอะไรที่ไม่จำเป็นออกไปบ้าง

6. มีวินัย และสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการเก็บออม และทำบัญชีรายรับรายจ่าย

7. เข้าใจในเรื่องการลงทุนและอัตราผลตอบแทน

การออม และการลงทุนควรมีความหลากหลาย เพื่อกระจายความเสี่ยงและต่อยอดการออมให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เช่น ถ้ามีการออมเดือนละ 10,000 บาท และนำไปลงทุนในอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังเทียบกับจำนวนปี คุณจะเห็นความมหัศจรรย์ของดอกเบี้ยทบต้นและความสม่ำเสมอในการออม คือ แม้จะออมเงินเดือนละ 10,000 บาท แต่ถ้าทำผลตอบแทนได้ในระดับ 15 เปอร์เซ็นต์ในระยะเวลา 3 ปี จะมีเงินเก็บสูงถึงเกือบ 449,830 บาท และถ้ายังออมได้สม่ำเสมอในระยะเวลา 15 ปี คุณจะมีเงินเก็บถึง 6,163,660 บาทเลยทีเดียว

8. เริ่มต้นก่อนมีชัยไปกว่าครึ่ง

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ คือ น้อง ก. ลงทุนปีละ 10,000 บาท ตั้งแต่อายุ 18 ปี ได้ผลตอบแทนปีละ 10% และลงทุนถึงอายุ 30 ปี แล้วปล่อยเงินลงทุนทิ้งไว้ โดยไม่ลงทุนเพิ่มจนอายุ 65 ปี น้องก.จะมีเงินต้น (10,000 บาท X 13 ปี) เท่ากับ 130,000 บาท และจะมีเงินเก็บตอนอายุ 65 ปี เท่ากับ 6,900,000 บาท

ส่วนพี่ ข.ลงทุนปีละ 20,000 บาท ตั้งแต่อายุ 30 ปี ได้ผลตอบแทนปีละ 10% และลงทุนต่อเนื่องจนอายุถึง 65 ปี พี่ข.จะมีเงินต้น (20,000 บาท X 35 ปี) เท่ากับ 700,000 บาท และจะมีเงินเก็บตอนอายุ 65 ปี เท่ากับ 5,420,000 บาท

ดังนั้น น้องก.เริ่มต้นลงทุนก่อนย่อมมีชัยไปกว่าพี่ข.อย่างเห็นได้ชัด โดยการลงทุนที่ว่านี้ เป็นการจัดสรรหรือกระจายเงินลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทต่าง ๆ เช่น ลงทุนกับกองทุนรวมตลาดเงิน พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ หรืออื่น ๆ เป็นต้น

นอกเหนือจาก 8 ข้อในข้างต้นแล้ว เราคงต้องยอมรับในความจริงอีกอย่างหนึ่งว่า คนจะรวยไม่ใช่เพราะเก็บเงินเก่ง แต่การใช้จ่ายอย่างมีสติ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่างหากคือเส้นทางสู่เศรษฐีในอนาคต



ที่มา
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9550000014907